ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1.1 ปรัชญา
“เลิศคิด เลิศธรรม เลิศนำ สู่ความก้าวหน้าทางวิชาการและความเป็นนักบริหารทางการศึกษามืออาชีพ”
1.2 ความสำคัญ
ประเทศไทยได้ดำเนินการพัฒนาการศึกษาเพื่อเพิ่มศักยภาพ และคุณภาพของประชากร โดยมีนโยบายปฏิรูปการศึกษาในทุกระดับและทุกประเภท มาเป็นระยะเวลาเกือบทศวรรษแล้ว อย่างไรก็ตาม จากการประเมินของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้ให้เห็นว่าการดำเนินงานหลายด้านยังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านคุณภาพของผู้เรียนทุกๆ ด้านยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำ และส่งผลต่อศักยภาพการแข่งขันของประเทศด้วย สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติได้รายงานผลการประเมินสมรรถนะในการแข่งขันของ International Institute for Management Development (IMD) ระหว่างปี พ.ศ. 2547-2550 ชี้ให้เห็นว่าสมรรถนะในการแข่งขันของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงจากที่เคยอยู่ในอันดับที่ 26 ในปี พ.ศ. 2547 ลดลงเป็นอันดับที่ 29 ในปี พ.ศ. 2549 และเป็นอันดับที่ 33 ในปี พ.ศ. 2550 ตามลำดับ ส่วนสมรรถนะทางการศึกษาของประเทศไทยด้านคุณภาพโดยภาพรวมอยู่ในอันดับที่ 46 จาก 55 ประเทศในปี พ.ศ. 2554
นอกจากนี้ การมีสถานศึกษาจำนวนมากกระจัดกระจายอยู่ทั่วประเทศ และรัฐบาลมีนโยบายในการกระจายอำนาจการบริหารสถานศึกษา เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาอย่างกว้างขวาง ทำให้สถานศึกษามีอำนาจหน้าที่ และความรับผิดชอบ นอกเหนือจากการจัดการเรียนการสอนมากขึ้น แต่ประสิทธิผลที่เกิดจากการลงทุนเพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษายังไม่เป็นไปตามเป้าหมาย จำเป็นต้องเร่งรัดพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการเรียนการสอนอย่างเร่งด่วน ในการยกระดับคุณภาพการศึกษา โดยเฉพาะคุณภาพผู้เรียน จำเป็นต้องพัฒนาคุณภาพการจัดการเรียนการสอน และการบริหารสถานศึกษาเป็นหลัก ซึ่งต้องอาศัยผู้บริหารสถานศึกษาที่มีความรู้ความสามารถ ทั้งด้านวิชาการและมีภาวะผู้นำที่จะทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนองค์กรให้เอื้อต่อการเรียนรู้ที่มีคุณภาพ
มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในฐานะที่เป็นสถาบันอุดมศึกษา มีศักยภาพและความพร้อมในการผลิต และพัฒนาผู้บริหารการศึกษา และผู้บริหารสถานศึกษามืออาชีพ นักวิชาการ และนักวิชาชีพชั้นสูงทางการบริหารการศึกษา ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการบริหารการศึกษา ภายใต้สภาวะการเปลี่ยนแปลง ดังกล่าว จึงเปิด การเรียนการสอนหลักสูตร ปริญญาเอก Doctor of Education ( Educational Administration) เพื่อพัฒนาวิชาชีพผู้บริหารสถานศึกษาและผู้บริหารการศึกษาระดับต่างๆ ให้สนองตอบการพัฒนาการศึกษาของประเทศ
1.3 วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
1. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีศักยภาพสูง สามารถพัฒนาองค์ความรู้และวิชาการใหม่ๆ ทางด้าน
การบริหารการศึกษา ที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ และสังคม
2. เพื่อผลิตและพัฒนาผู้บริหารและบุคลากรทางการศึกษาที่มีคุณธรรม จริยธรรม มีวิสัยทัศน์กว้างไกล และมีความสามารถในการวิจัย เพื่อสร้างความสามารถในการพัฒนา บริหาร และสามารถประยุกต์ใช้องค์ความรู้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการบริหารการศึกษา
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. ผู้บริหารสถานศึกษาทุกระดับ
2. ผู้บริหารการศึกษาระดับต่างๆ
3. นักวิชาการศึกษา
4. ผู้สอนในสาขาวิชาบริหารการศึกษาและสาขาที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้อง
5. ผู้บริหารองค์กรเอกชน องค์กรรัฐอื่นๆ และองค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง