Bangkokthonburi University History

Background of the University

ประวัติเกี่ยวกับมหาวิทยาลัย

“มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการอุดมศึกษาและผ่านการอนุมัติจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ให้เปลี่ยนประเภทสถาบันอุดมศึกษาเอกชนจาก “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” เป็น “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) หรือ Bangkokthonburi University (BTU)” ในวันที่ ๑๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๕๒ 
      มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี(มกธ.) หรือ Bangkokthonburi University (BTU) ซึ่งเดิมคือ “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๕ ตามเจตนารมณ์ของ ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดี ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศและสนองศรัทธาของชุมชน ความปรารถนาของท่านผู้ปกครอง ศิษย์เก่าพณิชยการกรุงเทพและโพลีเทคนิคพณิชย์กรุงเทพ ตลอดจนเยาวชนและประชาชนทั่วภูมิภาคในการสืบสานสู่การศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่สมบูรณ์แบบภายใต้ปณิธานที่จะให้สถาบันการศึกษาเป็นที่รวมองค์ความรู้วิชาการแขนงต่างๆ อันล้ำเลิศ ทันสมัยและบุคลากรที่มีความสามารถเชี่ยวชาญด้านการศึกษา โดยจัดการศึกษาที่เปิดโอกาสให้บุคคลได้มีโอกาสศึกษาต่อระดับอุดมศึกษาเพื่อพัฒนากำลังคนให้มีความรู้ความสามารถควบคู่กับการมีคุณธรรม จรรยาบรรณในวิชาเรียน และดำรงตนให้เป็นประโยชน์ต่อสังคม ประเทศชาติตามปรัชญาแห่งสถาบันที่ว่า “สร้างปัญญา พัฒนาคน ฝึกฝนคุณธรรม”
      มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีสถานที่ทำการตั้งอยู่ ๒ แห่ง รวมพื้นที่ทั้งหมด ๒๑๙ ไร่ ๓ งาน ๙๔ ตารางวา โดยสถานที่ทำการแห่งแรกตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๑๖/๑๐ หมู่ ๒ ถนนเลียบคลองทวีวัฒนา แขวงทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา กรุงเทพฯ ๑๐๑๗๐ บนพื้นที่ ๑๘๘ ไร่ ๒ งาน ๘ ตารางวา และสถานที่ ทำการแห่งที่ ๒ ตั้งอยู่ ณ ตำบลสระกระโจม อำเภอดอนเจดีย์ จังหวัดสุพรรณบุรี ๗๒๑๗๐ บนพื้นที่ ๓๑ ไร่ ๑ งาน ๘๖ ตารางวา เนื่องจากทำเลที่ตั้งเป็นบริเวณชานเมืองกรุงเทพฯซึ่งสะดวกต่อการคมนาคมทั้งทางรถยนต์และรถโดยสารประจำทาง อีกทั้งแวดล้อมด้วยหน่วยงานราชการต่างๆ ดังกล่าวเป็นปัจจัยที่เอื้ออำนวยให้การดำเนินงานตามภารกิจหลักของสถาบันลุล่วงไปด้วยดี
ตลอดระยะเวลานับแต่การก่อตั้งสถาบันจาก “วิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ถึง “มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี” ในปัจจุบัน สถาบันการศึกษาแห่งนี้ได้ดำเนินงานตามภารกิจหลักในฐานะสถาบันอุดมศึกษาครบถ้วนทั้ง ๔ ประการอย่างสมบูรณ์ โดยดำรงไว้ซึ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ประกอบด้วยภารกิจด้านการจัดการเรียนการสอน       การวิจัย การให้บริการทางวิชาการแก่สังคมและด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม จนเป็นที่ยอมรับของชุมชน สังคมและประเทศชาติ ทั้งมุ่งมั่นที่จะพัฒนาการเป็นสถาบันที่ก้าวนำการศึกษาให้ครอบคลุมทั่วถึงประชาชนทุกภูมิภาคบนพื้นฐานของความเท่าเทียมกันและเท่าทันต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลกสืบไป