โครงการส่งเสริมการออมตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงต่อการดำเนินชีวิต
เงินออมซึ่งเป็นส่วนของรายได้ที่เหลืออยู่หลังหักค่าใช้จ่ายทั้งหมด หมายความว่า โดยทั่วไป การออมจะเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลนั้นมีรายรับมากกว่ารายจ่าย ซึ่งจำนวนเงินออม และระยะเวลาในการออม จะถูกกำหนดโดยเป้าหมายของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น บางคนมีความต้องการการศึกษาที่สูงขึ้น มีบ้านและรถเป็นของตนเอง มีชีวิตที่สุขสบายหลังเกษียณอายุ หรือมีความคาดหวังในการสร้างฐานะครอบครัวให้มั่นคงต่อไป ฯลฯ
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์เศรษฐกิจของประเทศในปัจจุบันที่กำลังเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอย อันเนื่องมาจากปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐ ส่งผลให้รัฐบาลในประเทศต่างๆทั่วโลกกำหนดใช้มาตรการที่มีอยู่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์วิกฤตดังกล่าว เช่น การเสริมสภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจโดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง แม้ว่าวิธีการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยในภาคครัวเรือนภายในประเทศก็ตาม แต่ขณะเดียวกันกลับส่งผลให้ผลตอบแทนที่ได้จากการออมลดลงเช่นเดียวกัน ซึ่งประชาชนที่ออมเงินไว้เฉพาะในธนาคารพาณิชย์จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการออมเพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้นในอนาคต
คณะบัญชี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวจึงได้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มาเป็นแนวทางในการแก้ปัญหาและจัดให้มีโครงการพฤติกรรมการออมของคนไทยในช่วงภาวะเศรษฐกิจถดถอยโดยส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการอบรมรู้จักบริหารจัดการการใช้เงิน เพื่อให้ชีวิตและครอบครัวของตนเองมีความสุข ครอบครัวไม่เดือนร้อน มีการวางเป้าหมายที่ชัดเจนในการออม เห็นคุณค่าของการออม มีทักษะในการบริหารงบประมาณ มีวิธีคิดที่จะพิจารณาในการใช้เงิน รู้จักการออม รู้จักกระบวนการออมเงิน สามารถนำกระบวนการต่างๆดังกล่าวข้างต้นไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างเหมาะสม เป็นประโยชน์มากที่สุด อันจะส่งผลให้การดำเนินชีวิตในอนาคตมีคุณภาพและทางคณะบัญชีมีนโยบายในการทำงานวิจัยเกี่ยวกับพฤติกรรมการออมเพื่อใช้จ่ายในอนาคตของประชาชนชุมชนวัดปุรณาวาส เขตทวีวัฒนา กรุงเทพมหานครเพื่อส่งเสริมให้ประชาชนมีการออมมากขึ้นพร้อมทั้งจะนำเรื่องเงินออมไปถ่ายทอดให้กับนักศึกษาในรายวิชาการบัญชีการเงินเพื่อส่งเสริมให้นักศึกษารู้จักการประหยัดและเก็บหอมรอมริบ