ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร
ปรัชญาและความสำคัญ
ปรัชญาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีว่า “สร้างปัญญา พัฒนาคน ฝึกฝนคุณธรรม” หลักสูตรดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิต คณะดุริยางคศาสตร์ จึงมุ่งผลิตดุษฎีบัณฑิตทางดนตรี ด้วยปรัชญาประจำคณะให้สอดคล้องกับปรัชญาของมหาวิทยาลัยว่า “ดนตรีสร้างคน ประชาชนสร้างชาติ” คือสร้างผู้ทรงคุณวุฒิทางดนตรีให้เป็นผู้นำสังคม มีบทบาทในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้วยการพัฒนาจิตใจให้ดีงาม สำนึกในคุณค่าของสุนทรียศาสตร์
หลักสูตรนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากมุ่งสร้างผู้ที่สำเร็จการศึกษาให้มีความรู้ ความคิด และมีความสามารถทางดนตรี และการศึกษาวิจัยด้านวัฒนธรรมดนตรีในระดับนานาชาติ ไม่เพียงแต่เพื่อพัฒนาบุคลากรในสถานประกอบการ หรือหน่วยงานที่ดำเนินงานเกี่ยวกับดนตรีเท่านั้น แต่ยังมุ่งหวังให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพ บุคลิกภาพ มีอุดมการณ์ สามารถนำความคิดและศาสตร์ทางสาขาวิชามานุษยดุริยางควิทยา (Ethnomusicology) และ ดุริยางคศึกษา (Music Education) ไปใช้พัฒนาจิตใจของมนุษยชาติ เห็นคุณค่าแห่งความดี ความงาม เพื่อจรรโลงโลกและสังคมสืบไป
วัตถุประสงค์ของหลักสูตร
หลักสูตรนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ
1. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตให้เป็นผู้มีคุณธรรมและจริยธรรม จัดการปัญหาทางคุณธรรมจริยธรรมในบริบททางวิชาการหรือวิชาชีพ โดยใช้ดุลยพินิจอย่างผู้รู้ ด้วยความยุติธรรม ด้วยหลักฐาน ด้วยหลักการที่มีเหตุผลและค่านิยมอันดีงาม
2. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตให้เป็นคนคิดเป็น มีความรู้ ความสามารถด้านดนตรี การวิจัยอันเนื่องด้วยดนตรีและวัฒนธรรมดนตรี มีความเข้าใจถ่องแท้ในองค์ความรู้ระดับสูง และการวิจัยในสาขาวิชาการและวิชาชีพ มีความรอบรู้ทั้งทางด้านวิชาการและวิชาชีพ และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับดนตรีในขั้นสูง มีความรู้ความสามารถในระดับนานาชาติ
3. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตให้มีความเข้าใจอันถ่องแท้ในทฤษฎีและเทคนิคการแสวงหาความรู้ในการวิเคราะห์ประเด็นและปัญหาสำคัญได้อย่างสร้างสรรค์ บูรณาการการเรียนรู้ผ่านกระบวนการ การวิจัย และการสร้างสรรค์ทางดนตรี สามารถสังเคราะห์ทฤษฎีและการวิจัยในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ การแปลความหมายขององค์ความรู้ใหม่ทางการวิจัยที่มีลักษณะสร้างสรรค์โดยเฉพาะ หรือการใช้ทฤษฎีและการวิจัยที่ก่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อวิชาชีพและสังคมโลก
4. เพื่อผลิตดุษฎีบัณฑิตที่มีทักษะความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล กลุ่มบุคคล เข้าใจในสังคมและวัฒนธรรมที่แตกต่าง มีภาวะผู้นำ ตลอดจนการบริหารจัดการ ในการทำงานและแก้ปัญหา มีความรับผิดชอบต่อตนเอง และมีจิตอาสา
5. เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีความสามารถในด้านการวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสาร และการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ สามารถคัดกรองข้อมูลเพื่อใช้ในการดำเนินการ หรือศึกษาค้นคว้าทางด้านดุริยางคศาสตร์ศาสตร์ โดยประยุกต์ใช้วิทยวิธีทางดนตรี และศิลปะได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ และสื่อสารสาระทางดุริยางคศาสตร์ได้อย่างเป็นระบบ มีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับโอกาสและสถานะของผู้รับสาร
อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา
1. อาจารย์ดนตรีในวิทยาลัย มหาวิทยาลัยของรัฐและเอกชน
2. นักวิจัยดนตรี
3. นักวัฒนธรรมดนตรี
4. นักดนตรีอาชีพ
5. นักวัฒนธรรมดนตรีประจำศูนย์วัฒนธรรมทั่วประเทศ
6. ประกอบอาชีพอิสระ