ข่าวประชาสัมพันธ์

Bangkok Thonburi News

มกธ.จับมือองค์กรเครือข่ายทางวิชาการภาครัฐและเอกชน 11 สถาบัน จัดประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ ครั้งที่ 12 ภายใต้แนวคิด “สหวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน” ผ่านระบบออนไลน์

− Apr 30,2024 −

        ศ.ดร.บังอร  เบ็ญจาธิกุล  อธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี (มกธ.)  ได้ให้ความสำคัญกับนโยบายการส่งเสริมสนับสนุนให้คณาจารย์ทุกคณะพัฒนาผลงานวิชาการ  งานวิจัย  งานสร้างสรรค์  หรือการพัฒนาผลงานนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสังคมโดยรวม  และถือเป็นภารกิจที่สำคัญประการหนึ่งของมหาวิทยาลัยฯ ด้วย  
        จากนโยบายดังกล่าว  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  จึงจัดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติ  ครั้งที่ 12 ขึ้นตามแนวคิด "สหวิทยาการเพื่อการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน" (Interdisciplinarity for Sustainable Innovation Development : ISID)  จัดโดยสมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย)  และสมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ร่วมกับองค์กรเครือข่ายทางวิชาการทั้งภาครัฐและเอกชน  11 สถาบัน  เพื่อเผยแพร่  แลกเปลี่ยนองค์ความรู้  ความเข้าใจ  ประสบการณ์  และเพิ่มทักษะเชิงแนวความคิดที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยในศาสตร์สาขาต่าง ๆ  หรืองานสร้างสรรค์ที่สอดคล้องกับการพัฒนานวัตกรรมที่ยั่งยืน  หรือสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมให้กับคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยฯ  นักวิชาการ  นักศึกษา  และผู้ที่สนใจเข้าร่วมประชุมวิชาการดังกล่าว
        ในการนี้  รศ.ดร.ปัญญา  รุ่งเรือง  นายกสมาคมครูดนตรี (ประเทศไทย)  พร้อมด้วย ดร.จำเนียร  ชุณหโสภาค  นายกสมาคมเครือข่ายส่งเสริมการวิจัยทางมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์  ให้เกียรติร่วมกล่าวเปิดงานการประชุมวิชาการฯ ดังกล่าว  
        ทั้งนี้  รศ.ดร.สถิตย์  นิยมญาติ  รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการ  มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี  ให้เกียรติกล่าวปิดการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติภายหลังจบการประชุมดังกล่าว
        การจัดประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยระดับชาติดังกล่าวในปีนี้  มีการเสนอผลงานวิจัยทั้งภาคบรรยาย  และภาคโปสเตอร์  โดยแบ่งออกเป็น  3 กลุ่มสาขา  ได้แก่  สาชาวิชามนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ (Humanities and Social Sciences)  สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology)  และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพและกายภาพ (Health and Physical Sciences)  ซึ่งการประชุมใช้รูปแบบการประชุมวิชาการเสนอผลงานวิจัยผ่านระบบออนไลน์  โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ  นักวิชาการ  คณาจารย์ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ  นักศึกษาไทยและจีน  รวมทั้งผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประชุมวิชาการดังกล่าวกว่า 500 คน  เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2567

รูปข่าวประชาสัมพันธ์



Back