ข่าวประชาสัมพันธ์

Bangkok Thonburi News

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ เครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สภาการสาธารณสุขชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

− Aug 22,2023 −

กรมควบคุมโรค ร่วมกับ เครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี สภาการสาธารณสุขชุมชน และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาศักยภาพ ด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เพื่อตอบโจทย์การกระจายอำนาจระบบสุขภาพสู่ท้องถิ่น 
 
วันที่ 22 สิงหาคม 2566 ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล ชั้น 1 อาคาร 1 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ได้มีการลงนามสร้างความร่วมมือในการอบรม “พัฒนาศักยภาพการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อการบริการป้องกันและบำบัดรักษา สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)”  
  นพ.นิติ เหตานุรักษ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า “กรมควบคุมโรค เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนการดำเนินงานป้องกันควบคุมโรค และภัยสุขภาพของประเทศ มีเป้าหมายให้ประชาชนได้รับการป้องกัน ควบคุมโรคและภัยสุขภาพระดับมาตรฐานสากล ภายในปี 2580 โดยสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ มีภารกิจเพื่อสร้าง ส่งเสริมสนับสนุน และพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายเพื่อการดำเนินการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ในประชากรไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงอันเป็นสาเหตุสำคัญในการการสูญเสียปีสุขภาวะของประชากร เพื่อให้บรรลุตามเป้าประสงค์ การพัฒนาความร่วมมือกับภาคีเครือข่าย การพัฒนาองค์ความรู้แก่นักสาธารณสุขจึงเป็นประเด็นสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดการดำเนินงานในระดับพื้นที่”  
 นพ.นิพนธ์ ชินานนท์เวช ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าวว่า “สถานการณ์การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ องค์การอนามัยโลกมีการเสนอข้อมูลในปี พ.ศ. 2565 ว่าการใช้แอลกอฮอล์เป็นปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคและการบาดเจ็บมากกว่า 200 กรณี ทั่วโลก 3 ล้านคนเสียชีวิตทุกปี                ซึ่งเป็นผลมาจากการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเป็นอันตราย ซึ่งคิดเป็น 5.3% ของการเสียชีวิตทั้งหมดแอลกอฮอล์ สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2564 ที่สำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า สถานการณ์ในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า ความชุกของการดื่มแอลกอฮอล์ในประชากรไทยเท่ากับร้อยละ 28.0 ซึ่งหมายความว่าประมาณเกือบ 3 ใน 10 ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปเคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใน 12 เดือนที่ผ่านมา ดังนั้น การควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ จึงนับเป็นงานสาธารณสุขที่สำคัญเรื่องหนึ่งที่ต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการแก้ปัญหา ซึ่งทางสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เล็งเห็นถึงความสำคัญของวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนที่เป็นวิชาชีพที่ทำงานสุขภาพกับประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริงจึงได้มีการจัดกิจกรรมในครั้งนี้” 
ดร.ไพศาล บางชวด นายกสภาการสาธารณสุขชุมชน กล่าวว่า “การจัดกิจกรรมอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์" โดย กรมควบคุมโรค และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ให้กับสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนขึ้นในครั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการเพิ่มพูนทักษะความรู้และประสบการณ์ในวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เนื่องจาก ช่วงเวลานี้มีนักสาธารณสุขบางส่วนได้เข้าสู่กระบวนการถ่ายโอนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพสต.) ไปสู่องค์กรบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) แล้ว หน่วยงานดังกล่าวจึงไม่ได้ขึ้นตรงกับทางกระทรวงสาธารณสุข 
 
การจัดกิจกรรมอบรมให้กับนักสาธารณสุข ซึ่งเป็นสมาชิกและผู้ประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ให้มีองค์ความรู้และศักยภาพในการทำงานด้านการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในระดับพื้นที่ เพื่อให้สอดคล้องไปกับการขับเคลื่อนงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกแอลกอฮอล์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ซึ่งมีตัวแทนสภาการสาธารณสุขชุมชน เข้าร่วมเป็นวิทยากรในครั้งนี้ด้วย ได้แก่ 
- นายอเนก ทิมทับ เลขาธิการสภา 
- ดร.ปริญญา จิตอร่าม กรรมการสภาฯ 
- นายนรภัทร ศรีชุม กรรมการ/โฆษกสภาฯ  
- นายศักดิ์สิทธิ์ คำเกาะ กรรมการ/นายทะเบียน และ  
- นางทัศนีย์ บัวคำ ผู้อำนวยการสำนักงานเลขาธิการสภาฯ 
ในโอกาสนี้ ดร.ไพศาลฯ ได้กล่าวขอบคุณทาง กรมควบคุมโรค คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) ที่จัดให้มีกิจกรรมการอบรมพัฒนาศักยภาพขึ้นในครั้งนี้ ได้เป็นวิทยากรในการพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้” 
 
ผศ.ดร.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี กล่าวว่า “เป็นเกียรติอย่างสูงที่ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ในฐานะสถาบันหลักของสภาการสาธารณสุขชุมชน ได้ทำหน้าที่ในการร่วมจัดอบรมพัฒนาศักยภาพในครั้งนี้ ซึ่งคณะสาธารณสุขศาสตร์เป็นสถาบันทางการศึกษา ที่มุ่งผลิตบัณฑิตให้เป็นผู้นำทางสาธารณสุข มีความรู้ควบคู่คุณธรรมสามารถนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ทางการสาธารณสุขให้ได้มาตรฐานสากล โดยมีวิสัยทัศน์ที่สอดคล้องกับกิจกรรมนี้ คือ ให้บริการวิชาการแก่สังคม และชุมชนอย่างทั่วถึง ในด้านที่มหาวิทยาลัยมีความพร้อม และเชี่ยวชาญเพื่อให้สังคม และชุมชนพึ่งตนเอง บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง 
 
 นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม  ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทำให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านสาธารณสุขและสังคม ผลสำรวจจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564  สถานการณ์การดื่มของคนไทยในปัจจุบันมีแนวโน้มที่ดีขึ้น พบผู้ที่เคยดื่มหนักในรอบ 12 เดือนที่ผ่านมา 5.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 10  ซึ่งมีแนวโน้มลดลงมาโดยตลอดจากร้อยละ 14 ในปี 2557 แต่พบว่านักดื่มหน้าใหม่ช่วงอายุ 15-19 ปี มากถึงร้อยละ 30.8 ช่วงอายุ 20-24 ปี ร้อยละ 53.3 ที่สำคัญพบนักดื่มเพศหญิงเพิ่มขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบจากปี 2560  
 “สถานการณ์นี้ส่งผลให้ต้องเร่งหามาตรการควบคุมป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ โดย สสส. และภาคีเครือข่าย จะเร่งสร้างความตระหนักรู้เรื่องโทษของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้ประชาชนมากขึ้น ดำเนินงานคู่ขนานกับการคัดกรองผู้ที่มีปัญหาจากการดื่ม เพื่อให้คำแนะนำ ปรึกษาการเลิกดื่ม ตลอดจนการบำบัดรักษาและฟื้นฟู ทั้งนี้ การลงนามความร่วมมือครั้งถือถือเป็นการดำเนินงานเชิงรุกในการส่งเสริมศักยภาพของนักสาธารณสุขชุมชนให้สามารถป้องกันและบำบัดผู้มีปัญหาสุราในชุมชนทั่วประเทศ” 
 
อ.ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร หน่วยวิชาการเครือข่ายนักสาธารณสุขจัดการปัจจัยเสี่ยง (สปสส.) กล่าวว่า “กิจกรรมการอบรมในครั้งนี้ ได้รับความสนใจเข้าร่วมอบรมของสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชนเป็นจำนวนมาก จึงได้ขยายการอบรมเพิ่มเป็นจำนวนถึง 5 รุ่น จำนวนรุ่นละ 2,500 คน เพื่อให้รองรับกับสมาชิกฯที่มีใบอนุญาตให้ได้เก็บหน่วยคะแนน ซึ่งทางเครือข่ายได้ผ่านการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านการจัดบริการสำหรับผู้มีปัญหาการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (สถานบริการสุขภาพที่อยู่นอกกระทรวงสาธารณสุข) ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 16 – 18 กรกฎาคม 2566 จากทางกรมควบคุมโรค เพื่อให้มีองค์ความรู้สำหรับการถ่ายทอดและพัฒนาต่อยอดได้ โดยมีรายนามคณาจารย์ที่จะเป็นวิทยากร ดังต่อไปนี้  
- อ.นิตินิพพิชฌน์ เพียรผักแว่น  
- อ.บุญวัฒน์  ไทรย้อย  
- อ.เดชวิทย์ ใหม่แย้ม  
- อ.ศรีไพร สอนเขียว  
- อ.พงศ์พัฒน์ ชวโรกร  
- ผศ.(พิเศษ)ดร.สมตระกูล  ราศิริ  
- อ.วิเชียร จิตต์พิศาล 
ในนามของผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ต้องขอขอบพระคุณทาง สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค สภาการสาธารณสุขชุมชน และคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ที่ร่วมกันในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์กับสมาชิกสภาการสาธารณสุขชุมชน

รูปข่าวประชาสัมพันธ์



Back