ผศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มีนโยบายให้มหาวิทยาลัยฯ เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อน ลดจำนวนปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้น และมุ่งเน้นที่จะผลิตพลังงานสะอาด เพื่อใช้เองภายในมหาวิทยาลัยฯ จึงทุ่มเงินลงทุน 111 ล้านบาท เพื่อติดตั้งแผงโซล่าเซลล์บนหลังคา (Solar Rooftop) ของอาคารภายในมหาวิทยาลัยฯ สำหรับผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเซลล์แสงอาทิตย์ขนาด 3 เม็กกะวัตต์ หรือ 8,956 แผง จึงได้ลงนามสัญญาการจัดการพลังงานด้วยระบบผลิตไฟฟ้าเซลล์แสงอาทิตย์ระหว่างมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีกับบริษัท เอเซียนโซล่าร์ จำกัด โดยคุณประมวล บุตรดา ประธานกรรมการ บริษัท เอเซียนโซล่าร์ จำกัด พร้อมด้วย ผศ.วิทยา เบ็ญจาธิกุล รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี คุณสุวิไล โล่สถิตย์มณฑล กรรมการบริหาร บริษัท เอเซียนโซล่าร์ จำกัด ร่วมลงนามด้วย โดยมีคณะผู้บริหาร คณาจารย์ บุคลากรผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งสองหน่วยงาน และสื่อมวลชนเข้าร่วมเป็นสักขีพยานอย่างคับคั่ง ณ อาคารสปอร์ต คอมเพล็กซ์ ชั้น 4 มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2562
มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี นับเป็นมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดใหญ่แห่งแรกที่เป็นผู้นำด้านการประหยัดพลังงาน เพื่อลดภาวะโลกร้อน และมุ่งพัฒนาการผลิตพลังงานสะอาดปราศจากมลภาวะมาใช้ภายในมหาวิทยาลัย เนื่องจากในปัจจุบันคงปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหาภาวะโลกร้อนที่เกิดขึ้นขณะนี้เป็นปัญหาระดับโลก และเป็นปัญหาที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกตระหนัก และให้ความสำคัญในการเป็นแนวร่วมช่วยกันแก้ไขปัญหาดังกล่าว อีกทั้งมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีมีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะผลิตบัณฑิตออกไปสู่สังคม เพื่อพัฒนาให้เป็นบุคคลากรที่มีคุณภาพ มีความรู้ มีทักษะความสามารถเป็นที่ยอมรับทั้งในระดับสังคม ระดับประเทศ และสามารถนำองค์ความรู้ไปบูรณาการสร้างสรรค์สังคมได้ ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี จึงเน้นเรื่องการปลูกฝังค่านิยมในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย และสังคมโลกแก่นักศึกษาและบัณฑิต
นโยบายของมหาวิทยาลัยฯ ดังกล่าว นอกจากจะสามารถลดต้นทุนค่าไฟฟ้าแล้ว ยังจะสามารถช่วยลดการใช้พลังงานไฟฟ้าได้ประมาณ 4 ล้านหน่วยต่อปี หรือคิดเป็นร้อยละ 50 ของการใช้พลังงานไฟฟ้าทั้งหมดของมหาวิทยาลัยฯ เทียบเท่ากับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 2,600 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งผลลัพธ์ด้านพลังงานดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงความคุ้มค่าทั้งในแง่ของการประหยัดค่าไฟฟ้า และช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย มหาวิทยาลัยฯ จึงมีความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่งที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาด้านพลังงานไปอีกมิติหนึ่ง นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยฯ จะเปิดให้มีศูนย์การเรียนรู้ด้านพลังงานแสงอาทิตย์ขึ้นที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่นักศึกษา และบุคคลภายนอกที่สนใจเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์อีกด้วย
ในการนี้ บริษัท เอเซียนโซลาร์ จำกัด ยังจะมอบทุนการศึกษาจำนวน 1 แสนบาทต่อปีเป็นเวลา 10 ปี ให้แก่นักศึกษาของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เพื่อสนับสนุนการศึกษาของมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งจะกำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของผู้เข้ารับทุนดังกล่าวอีกครั้ง และยังจะจัดโครงการประกวดการเขียนบทความเกี่ยวกับ “สถาบันการศึกษากับการประหยัดพลังงาน” ทั้งในระดับนักศึกษา และระดับบุคลากรของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี โดยผู้ชนะเลิศการประกวดจะได้รับเงินรางวัล จำนวน 50,000 บาท รองชนะเลิศอันดับหนึ่ง จำนวน 30,000 บาท และรองชนะเลิศอันดับสอง จำนวน 20,000 บาท ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ 081 484 3327