คณะแพทยศาสตร์

ปริญญาตรี หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต

ความสำคัญของหลักสูตร

                                หลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี มุ่งเน้นให้แพทย์ที่จบการศึกษาจากหลักสูตรจะต้องเป็นผู้มีปัญญา มีความรู้ มีทักษะและจิตสำนึกที่ดีต่อการให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษาและการฟื้นฟูสุขภาพของบุคคล ครอบครัว และเวชศาสตร์ชุมชน ยึดมั่นในคุณธรรมและจริยธรรมแห่งวิชาชีพ มีความสามารถในการพัฒนาตนเองสู่การศึกษาในระดับสูงที่หลากหลายได้ และสอดคล้องกับพัฒนาด้านเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ รวมทั้งสามารถปรับตนเองให้เข้ากับสถานการณ์ในอนาคตได้อย่างเหมาะสม

ปรัชญาของหลักสูตร

                                คุณธรรมนำความรู้ คู่ความสามารถ ฉลาดพัฒนาตน และชุมชน  

ค่านิยม

                                EKG          (Ethic, Knowledge, Generosity)

วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

 

                                เพื่อสร้างบัณฑิตแพทย์ที่มีความรู้ความสามารถ ทักษะ และเจตคติ ไม่น้อยกว่าเกณฑ์มาตรฐานผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมของแพทยสภา พ.ศ. ๒๕๕๕ และกรอบมาตรฐานคุณวุฒิระดับอุดมศึกษา สาขาแพทยศาสตร์ ดังนี้

                                               (๑)      มีคุณธรรม จริยธรรมและเจตคติอันดีงามต่อการประกอบวิชาชีพ และสังคม

                                (๒)     มีความรู้ความสามารถ และทักษะพื้นฐานทางด้านพื้นฐานวิชาชีพเวชกรรม โดยสามารถให้บริการสุขภาพแบบองค์รวม ครอบคลุมทั้งการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การตรวจวินิจฉัย การรักษา และการฟื้นฟูสุขภาพของบุคคล ครอบครัวและชุมชน อย่างมืออาชีพ

                                (๓)     มีความสามารถสืบค้นทางห้องปฏิบัติการ หมายถึงความสามารถในการเลือกใช้การทดสอบทางห้องปฏิบัติการอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งรวมถึงการระบุข้อบ่งชี้ การเตรียมผู้ป่วย การจัดเก็บสิ่งส่งตรวจและการแปลผลการตรวจเพื่อการวินิจฉัยและการติดตามผลการรักษา

                                (๔)     มีความสามารถวิเคราะห์ข้อมูลและแก้ปัญหาด้านสุขภาพ ได้อย่างมีเหตุผลตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ ครอบคลุมแง่มุมต่าง ๆ แบบองค์รวม

                                (๕)     มีเจตคติที่ดีในการศึกษาต่อเนื่องตลอดเวลา ติดตามความก้าวหน้าของวิทยาการใหม่ ๆ และสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมและถูกกาลเทศะ

                                (๖)      มีทักษะในการสื่อสารระหว่างแพทย์ บุคคลากรทางแพทย์ ผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย ผู้อยู่ในวิชาชีพอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุคคลทั่วไป กับคนทุกกลุ่มอายุ ทั้งด้านการฟัง พูด เขียนทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ และการทำงานเป็นทีม

                                (๗)     มีความสามารถผสมผสานและประยุกต์ความรู้ความสามารถทางวิชาการแพทย์กับวิชาแขนงต่าง ๆ ในการปฏิบัติงานและการให้บริการด้านสุขภาพแก่ประชาชน มีมนุษยสัมพันธ์ดีและสามารถทำงานร่วมกับบุคลากรสาขาวิชาชีพอื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ

                                (๘)     มีทัศนคติเชิงบวก รู้เท่าทันต่อบริบททางสังคม กฎระเบียบ กฎหมาย และนโยบายสาธารณะต่างๆ ที่ควบคุมกำกับการประกอบวิชาชีพเวชกรรมทั้งในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคต

                                (๙)      มีความสามารถในการวิเคราะห์ผลการวิจัยและดำเนินงานวิจัยพื้นฐานได้อย่างถูกต้องตามระเบียบ วิธีวิจัยที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

                                               (๑๐)   เป็นผู้ที่มีความสามารถในการเป็นผู้นำ และชี้นำสังคม