มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สำหรับ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.)
โดยมี รศ.ดร.ทนพญ.วรรณีย์ จิรอังกูรสกุล คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และ ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร ผู้แทนวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน เข้าร่วมแสดงเชิงสัญลักษณ์ขับเคลื่อนกิจกรรมดังกล่าว และนายแพทย์อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานกิจกรรมเปิดตัวขับเคลื่อนการพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมประเมิน จันทวิมล กรมควบคุมโรค
นายแพทย์อภิชาต กล่าวว่า “โรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ยังคงเป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน กรมควบคุมโรค ได้ดําเนินงานเพื่อยุติปัญหาเอดส์ การแพร่ระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และกําจัดโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี มาอย่างต่อเนื่อง โดยพัฒนาคุณภาพด้านการป้องกัน ดูแลรักษา ส่งเสริมทัศนคติเชิงบวกต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี และสื่อสารสร้างความรอบรู้ให้กับประชาชน”
ซึ่งการดําเนินงานดังกล่าวนั้น มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาที่ยื่นขอหน่วยคะแนนการศึกษาต่อเนื่องวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน และสภาการสาธารณสุขชุมชนในฐานะผู้อนุมัติหน่วยคะแนนศึกษาต่อเนื่องสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขชุมชน ร่วมกันขับเคลื่อนดำเนินงานดังกล่าว โดยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านสาธารณสุขในการป้องกันและควบคุมโรคเอดส์ โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี สำหรับ รพ.สต. ในช่วง เดือนพฤษภาคม 2567 นี้ โดยมีผู้ลงทะเบียนอบรมออนไลน์แล้ว กว่า 7,500 คน
ทั้งนี้นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญ เพราะทุกภาคส่วนมีเป้าหมายเดียวกัน คือ ประชาชนมีสุขภาพที่ดี การอบรมพัฒนาศักยภาพครั้งนี้ มุ่งหวังให้บุคลากรสาธารณสุขสามารถ นําความรู้ที่ได้ไปใช้ประโยชน์ในการดําเนินงานป้องกันและควบคุมโรคเอดส์โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ และโรคไวรัสตับอักเสบ บี และ ซี ในพื้นที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นําไปสู่การป้องกันและรักษาที่ถูกต้อง ลดการเจ็บป่วย การเสียชีวิตจากโรค ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีและยั่งยืน