มกธ.จับมือศิลปินแห่งชาติ “ดร.กมล ทัศนาญชลี” เปิดโครงการ “ศิลปินในพำนัก” ร่วมกับนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินโชว์ศิลปะจัดวางขนาดใหญ่บนอาคาร “หนังใหญ่กับโลกแห่งความเงียบ : แสง เงา และกาลเวลาแห่งธรรมชาติ” กระตุ้นศิลปินสร้างสรรค์ผลงานศิลปะระดับนานาชาติ
ศ.ดร.บังอร เบ็ญจาธิกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี เป็นประธานในพิธีเปิด “โครงการศิลปินในพำนัก (Artist in residence) ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรมและสื่อผสม) ประจำปีพุทธศักราช 2540 ร่วมกับนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน” เพื่อผลักดันส่งเสริมให้ศิลปิน นักศึกษา รวมถึงคณาจารย์ที่สอนศิลปะได้มีประสบการณ์การเรียนรู้ และกระตุ้นให้เกิดการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะในระดับนานาชาติ
อธิการบดีมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ยังรับมอบผลงานศิลปะร่วมสมัย “Four Element, Earth, Air, Fire & Water Series # 5” จาก ดร.กมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติ เพื่อไว้ให้เป็นสมบัติของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งผลงานศิลปะดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งที่เคยจัดแสดง ณ ศาลาไทย (Thai Pavilion) ของมหกรรมศิลปะนานาชาติเวนิสเบียนนาเล่ ครั้งที่ 56 ประเทศอิตาลี
การดำเนินโครงการศิลปินในพำนักฯ ดังกล่าว ดร.กมล ได้เปิดโอกาสให้คณาจารย์ นักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ได้ศึกษาเรียนรู้กระบวนการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันภายใต้แรงบันดาลใจจากหนังใหญ่ตามความต้องการเสริมสร้างจินตนาการ และศักยภาพของนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยินอีกด้วย
นอกจากนี้ ดร.กมล ร่วมกับคณาจารย์ นักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน และนักศึกษาหูดีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ “หนังใหญ่กับโลกแห่งความเงียบ : แสง เงา และกาลเวลาแห่งธรรมชาติ” โดยนำแรงบันดาลใจจากผลงานชุดหนังใหญ่มาสร้างสรรค์กับลักษณะของแสงและเงาของดวงอาทิตย์ และกาลเวลา อีกทั้งในเวลากลางคืนก็สามารถใช้แสงสีส่องให้เกิดแสงเงาตกทอดได้ด้วย โดยโครงสร้างภายในผลงานศิลปะจะใช้รูปทรงของหนังใหญ่ ซึ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรมไทยที่ใช้เป็นสื่อแสดงออกร่วมกับเรื่องราวในยุคปัจจุบัน และอนาคต
การสร้างสรรค์ผลงานศิลปะร่วมกันของศิลปินแห่งชาติ นักศึกษา และคณาจารย์ของมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีดังกล่าว จัดเป็นผลงานศิลปะขนาดใหญ่ในรูปแบบศิลปะจัดวางหลายชิ้นเฉพาะที่ (Site-specific art) ซึ่งเป็นผลงานศิลปะที่ออกแบบให้ติดตั้งบริเวณอาคารของคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี และถือเป็นการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะจากองค์ความรู้สู่ภาคปฏิบัติจริง ซึ่งเป็นประสบการณ์ตรงให้กับนักศึกษา โดยเฉพาะนักศึกษาผู้บกพร่องทางการได้ยิน
ทั้งนี้ ผลงานศิลปะ “หนังใหญ่กับโลกแห่งความเงียบ : แสง เงา และกาลเวลาแห่งธรรมชาติ” ได้จัดแสดงถาวรให้ผู้ที่สนใจเข้าชมได้ ณ อาคารคณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป