ดร.ดวงฤทธิ์ เบ็ญจาธิกุล ชัยรุ่งเรือง เป็นตัวแทนมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีรับมอบโล่เกียรติคุณ จาก พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ในพิธีเปิดโครงการ "สานใจไทย สู่ใจใต้" รุ่นที่ 31 ในวันที่ 5 ตุลาคม 2560 ที่ผ่านมา ณ สโมสรทหารบก(วิภาวดี)
ความเป็นมาของโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้”
โครงการ“สานใจไทย สู่ใจใต้” เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากดำริของ ฯพณฯ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ โดยการสนับสนุนจากคณะกรรมการของมูลนิธิรัฐบุรุษ พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ มูลนิธิรักเมืองไทย และมูลนิธิพิทักษ์อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี กองทัพทุกเหล่า และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน นำเยาวชนมุสลิมจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ มาใช้ชีวิตร่วมกับครอบครัวอุปถัมภ์ที่นับถือศาสนาอิสลามในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ของครอบครัวอุปถัมภ์และชุมชนสังคมพหุวัฒนธรรม ทำให้เยาวชนได้รับประสบการณ์ตรง และมีความเข้าใจบริบทของสังคมประเทศไทยมากยิ่งขึ้น จนนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการ“สานใจไทย สู่ใจใต้” ได้ดำเนินการรุ่นที่ ๑ ตั้งแต่ปี ๒๕๔๘ เป็นต้นมา จนถึงปัจจุบันได้ดำเนินการไปแล้ว ๒๑ รุ่น มีเยาวชนเข้าร่วมจำนวน ๔,๐๓๐ คน ครอบครัวอุปถัมภ์จำนวน ๒,๐๕๒ ครอบครัว โดยดำเนินการนำเยาวชนแต่ละรุ่นเข้าร่วมกิจกรรมในระหว่างปิดภาคเรียนปีละ ๒ รุ่น คือ ช่วงเดือนเมษายน และเดือนตุลาคม โดยมีเยาวชนเข้าร่วมโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” รุ่นละ ๒๔๐ คน ครูพี่เลี้ยง ๑๒ คน และครอบครัวอุปถัมภ์ ๑๒๐ ครอบครัว
วัตถุประสงค์ของโครงการ
๑) เพื่อสร้างโอกาสให้เยาวชนมุสลิมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิถีชีวิตของครอบครัวมุสลิมในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง
๒) เพื่อเพิ่มทักษะประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ในสังคมพหุวัฒนธรรม ความเป็นผู้นำ ผู้ตาม ในการอยู่ร่วมกันบนความหลากหลายของเชื้อ
ชาติ ศาสนา ภาษา และวัฒนธรรม ที่อยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข
๓) เพื่อสร้างความสัมพันธ์และช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกันของครอบครัวอุปถัมภ์กับครอบครัวของเยาวชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้
คุณสมบัติของเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการ
๑) เป็นเยาวชนที่กำลังศึกษาในระดับมัธยมศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน หรือกำลังศึกษาอยู่ในสถาบันศึกษาปอเนาะ
๒) นับถือศาสนาอิสลาม
๓) อายุระหว่าง ๑๕ – ๑๘ ปี
๔) มีฐานะยากจน กำพร้า หรือขาดโอกาสทางสังคม
๕) มีความประพฤติเรียบร้อย
๖) มีภาวะความเป็นผู้นำ
๗) มีสุขภาพแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง
๘) ไม่มีประวัติเกี่ยวข้องกับยาเสพติด
คุณสมบัติของครอบครัวอุปถัมภ์ที่รับเยาวชน
๑) เป็นครอบครัวที่ศรัทธาเลื่อมใสในบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม ประพฤติตนเหมาะสมและเคร่งครัดเป็นแบบอย่างแก่ครอบครัวอื่นๆได้
๒) มีความสมัครใจ มีฐานะปานกลาง พัฒนาครอบครัว ประกอบอาชีพที่สุจริต สังคมยอมรับ สามารถเป็นแบบอย่างแก่ยาวชนได้เป็นอย่างดี
๓) มีบุตรธิดา หรือเยาวชนที่อุปการะสามารถเป็นแบบอย่างที่ดีแก่เยาวชนได้ โดยเป็นเพศเดียวกันกับเยาวชนที่รับอุปถัมภ์จากจังหวัดชายแดนภาคใต้
๔) มีความสามารถ และมีเวลา ในการอบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตของเยาวชนในขณะที่พำนักอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข
๕) มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง ไม่อยู่ในชุมชนแออัด เสี่ยงกับสภาพแวดล้อมที่เสื่อมโทรม และเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติด
๖) ไม่มีประวัติที่เคยเกี่ยวข้องกับการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ค้าของเถื่อน เป็นผู้มีอิทธิพลผิดกฎหมาย ค้ายาเสพติด ฯลฯ
การดำเนินการคัดเลือกเยาวชนและครอบครัวอุปถัมภ์
๑) มีการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการระดับจังหวัดเพื่อพิจารณาคัดเลือกเยาวชนและครอบ ครัวอุปถัมภ์ตามคุณสมบัติที่กำหนดโดยมีคณะกรรมการจากทุกภาคส่วนที่
มีส่วนเกี่ยวข้อง เช่น ผู้แทนของผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้แทนของประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัด โดยมีเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานทางการศึกษาเป็น
เลขานุการ
๒) มีผู้แทนของคณะกรรมการดำเนินการโครงการ “สานใจไทย สู่ใจใต้” ร่วมสัมภาษณ์และสังเกตการณ์ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ทุกครั้งที่ดำเนิน การ
๓) การพิจารณาเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการเป็นเยาวชนในสถาบันศึกษาปอเนาะเป็นหลัก เนื่องจากเป็นกลุ่มเป้าหมายที่ขาดโอกาสทางสังคมเป็นจำนวนมาก