研究院

学术推广和教育标准办公室

ปรัชญา (Philosophy)

“ส่งเสริมวิชาการ  ประสานงานด้วยใจ  พร้อมให้บริการ  ด้วยมาตรฐานและพัฒนาคุณภาพการศึกษา” 

วิสัยทัศน์ (Vision)

กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานการศึกษา เป็นกลุ่มงานที่มุ่งเน้นการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอน ให้มีคุณภาพสู่ความเป็นเลิศทางวิชาการ เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์แก่นักศึกษา เป็นศูนย์กลางให้บริการเอกสารและข้อมูล ตลอดจนงานบริการต่างๆ ที่ยึดหลักคุณภาพและความพึงพอใจของผู้ใช้บริการเป็นสำคัญ ประสานและส่งเสริมให้มีการนำนโยบาย แผนดำเนินงานด้านคุณภาพไปสู่การปฏิบัติด้วยการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทั่วทั้งกลุ่มงานและมหาวิทยาลัย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านคุณภาพ เสริมสร้างและพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพให้ทันสมัย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่  ส่งเสริมให้มีระบบการประกันคุณภาพที่เหมาะสมกับพันธกิจ มีโครงการ/กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านการประกันคุณภาพทั้งกับหน่วยงานภายในและภายนอก เพื่อการพัฒนาระบบและกลไกการประกันคุณภาพสู่ความเป็นเลิศ  

พันธกิจ (Mission)

  1. พัฒนาระบบงานด้านการบริหารและการจัดการให้ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ
  2. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมการพัฒนาหลักสูตรและกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  3. ให้บริการด้านเอกสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย อันได้แก่การผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงลปและวัฒนธรรม
  4. ประสานความร่วมมือและส่งเสริมให้มีการนำนโยบาย ตลอดจนมีการนำแผนดำเนินงานด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัยไปสู่การปฏิบัติด้วยการสื่อสาร สร้างความเข้าใจ ผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทั่วทั้งมหาวิทยาลัย รวมทั้งให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านคุณภาพแก่ผู้ที่ต้องการ
  5. เสริมสร้างและพัฒนาระบบและกลไกประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัยให้ทันสมัย ด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่ ส่งเสริมให้มีระบบการประกันคุณภาพที่เหมาะสมกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
  6. พัฒนาพันธมิตร และบุคลากรของมหาวิทยาลัยให้มีความรู้และทักษะด้านประกันคุณภาพ
  7. เป็นหน่วยงานให้บริการข้อมูล และเอกสารด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย
  8. พัฒนาบุคลากรด้านศักยภาพตามสายงาน
  9. พัฒนาบุคลากรให้มีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
  10. ดำเนินงานโดยใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาระบบงานให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  11. พัฒนาระบบการบริหารภายใน ทั้งในด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และการจัดบริหารจัดการให้เกิดคุณภาพตามเกณฑ์และเป้าหมายการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย

เป้าประสงค์ (Goals)

  1. เพื่อให้มีระบบบริหารจัดการที่ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ
  2. มีหลักสูตรและมีรูปแบบการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ
  3. มีกระบวนการการให้บริการด้านเอกสารและข้อมูลต่างๆ เพื่อสนับสนุนพันธกิจหลักของมหาวิทยาลัย อันได้แก่การผลิตบัณฑิต การวิจัย การให้บริการวิชาการแก่สังคมและการทำนุบำรุงศิลปและวัฒนธรรม
  4. เพื่อให้มีการนำนโยบาย แผนงานด้านคุณภาพของมหาวิทยาลัยไปสู่การปฏิบัติ มีการสร้างความเข้าใจผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมทั่วทั้งองค์กร มีการให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายด้านคุณภาพ
  5. มีระบบและกลไกการประกันคุณภาพที่ทันสมัยด้วยการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารสมัยใหม่
  6. มีระบบการประกันคุณภาพที่เหมาะสมกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย
  7. มีพันธมิตรและบุคลากรของมหาวิทยาลัยที่มีความรู้และทักษะด้านประกันคุณภาพการศึกษา
  8. มีบุคลากรที่มีศักยภาพตามสายงาน
  9. มีศูนย์กลางข้อมูลด้านการประกันคุณภาพของมหาวิทยาลัย
  10. มีบุคลากรที่มีคุณธรรมและจริยธรรมเพื่อเป็นแบบอย่างที่ดี
  11. มีเทคโนโลยีในการดำเนินงานที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
  12. มีระบบการบริหารจัดการภายใน ด้านบุคลากร งบประมาณ วัสดุอุปกรณ์ และมีการจัดการที่มีคุณภาพตามเกณฑ์และได้เป้าหมายการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย

นโยบายการดำเนินงานของกลุ่มงาน

นโยบายด้านการบริหารจัดการ

      มีการจัดระบบการบริหารจัดการที่ดีด้วยหลักความรับผิดชอบ หลักความเสมอภาค หลักการมีส่วนร่วม หลักความคุ้มค่า หลักความโปร่งใส และหลักนิติธรรม กำหนดอำนาจหน้าที่ของบุคลากรให้ชัดเจน จัดระบบการบริหารทรัพยากรบุคคล จัดสร้าง และพัฒนาระบบข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ จัดให้บุคลากรมีส่วนร่วมในการบริหาร และมีแนวทางหรือคู่มือในการบริหารจัดการ ปรับปรุงโครงสร้างและระบบบริหารให้สอดคล้องกับพันธกิจของมหาวิทยาลัย มีการใช้ทรัพยากรร่วมกันกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัย เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด อันจะก่อให้เกิดการประหยัดงบประมาณด้านการบริหารจัดการ

นโยบายด้านระบบข้อมูลสารสนเทศ

      พัฒนา และปรับปรุงระบบฐานข้อมูลสารสนเทศให้มีข้อมูลที่ถูกต้อง ครบถ้วน และน่าเชื่อถือทั้งทางด้านข้อมูลนักศึกษา ข้อมูลบุคลากร ข้อมูลหลักสูตร ข้อมูลการวิจัย ข้อมูลงบประมาณและข้อมูลด้านการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารในการตัดสินใจบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนสนับสนุนให้มหาวิทยาลัย/คณะ/หน่วยงาน บรรลุเป้าหมายตามที่ได้กำหนดไว้

นโยบายด้านการประกันคุณภาพการศึกษา

       ส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาคุณภาพ และมาตรฐานการศึกษา และเห็นว่าการประเมินตนเอง หรือการตรวจสอบคุณภาพภายในเป็นกระบวนการที่ควบคู่ 
หรือต้องดำเนินการพร้อมไปกับการปฏิบัติการที่ดี (Good Practice) มีเกณฑ์คุณภาพและมาตรฐานรองรับ นำระบบกลไกการประกันคุณภาพการศึกษาเข้ามาใช้ในการบริหารจัดการ และนำผลการประเมินมาปรับปรุง พัฒนาการดำเนินงานให้มีคุณภาพ และได้มาตรฐาน

นโยบายด้านหลักธรรมมาภิบาล

 

          หลักธรรมาภิบาล หมายถึง การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุม ดูแลกิจการต่างๆ  
ให้เป็นไปในครรลองธรรม นอกจากนี้ยังหมายถึงการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถนําไปใช้ได้ทั้งภาครัฐและเอกชน ธรรมที่ใช้ในการบริหารงานนี้มีความหมายกว้างขวาง กล่าวคือ หาได้มีความหมายเพียงหลักธรรมทางศาสนาเท่านั้น แต่รวมถึงศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรมและความถูกต้อง ชอบธรรมทั้งปวง ซึ่งวิญญูชนพึงมีและพึงปฏิบัติ อาทิความโปร่งใสตรวจสอบได้ การปราศจากการแทรกแซกจากองค์การภายนอก 
เป็นต้น 

          กลุ่มงานส่งเสริมวิชาการและมาตรฐานการศึกษา มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ประกาศให้มีการใช้หลักธรรมาภิบาลประกอบไปด้วย 10 องค์ประกอบ เพื่อให้การปกครอง การบริหาร การจัดการ การควบคุม ดูแลกิจการต่างๆ ให้เป็นไปในครรลองธรรมไว้ดังนี้

  1. หลักประสิทธิผล (Effectiveness) หมายถึง ผลการปฏิบัติราชการที่บรรลุวัตถุประสงค์และเป้าหมายของแผนการปฏิบัติราชการตามที่ได้รับงบประมาณมาดำเนินการ รวม ถึงสามารถเทียบเคียงกับส่วนราชการ หรือหน่วยงานที่มีภารกิจคล้ายคลึงกันและมีผลการปฏิบัติ งานในระดับชั้นนำของประเทศ เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน โดยการปฏิบัติราชการจะ ต้องมีทิศทางยุทธศาสตร์และเป้าประสงค์ที่ชัดเจน มีกระบวนการปฏิบัติงาน และระบบงานที่เป็น มาตรฐาน รวมถึงมีการติดตามประเมินผลและพัฒนาปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ
     
  2. หลักประสิทธิภาพ (Efficiency) หมายถึง การบริหารราชการตามแนวทางการ กำกับดูแลที่ดีที่มีการออกแบบกระบวนการปฏิบัติงาน โดยการใช้เทคนิคและเครื่องมือการบริหาร จัดการที่เหมาะสมให้องค์การสามารถใช้ทรัพยากรทั้งด้านต้นทุน แรงงานและระยะเวลาให้เกิด ประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการปฏิบัติราชการตามภารกิจ เพื่อตอบสนอง ความต้องการของประชาชนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่ม
     
  3. หลักการตอบสนอง (Responsiveness) หมายถึง การให้บริการที่สามารถ ดำเนินการได้ภายในระยะเวลาที่กำหนดและสร้างความเชื่อมั่นความไว้วางใจ รวมถึงตอบสนอง ตามความคาดหวัง/ความต้องการของประชาชนผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่มีความหลาก หลายและมีความแตกต่าง
     
  4. หลักภาระรับผิดชอบ (Accountability) หมายถึง การแสดงความรับผิดชอบในการปฏิบัติหน้าที่และผลงานต่อเป้าหมายที่กำหนดไว้ โดยความรับผิดชอบนั้นควรอยู่ในระดับที่สนองต่อความคาดหวังของสาธารณะ รวมทั้งการแสดงถึงความสำนึกในการรับผิดชอบต่อปัญหา สาธารณะ
     
  5. หลักความโปร่งใส (Transparency) หมายถึง กระบวนการเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาชี้แจงได้เมื่อมีข้อสงสัย และสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารอันไม่ต้องห้ามตามกฎหมายได้อย่างเสรี โดยประชาชนสามารถรู้ทุกขั้นตอนในการดำเนินกิจกรรม หรือกระบวนการต่างๆ และสามารถตรวจสอบได้
     
  6. หลักการมีส่วนร่วม (Participation) หมายถึง การกระบวนการที่ข้าราชการ ประชาชน และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกกลุ่มมีโอกาสได้เข้าร่วมในการรับรู้ เรียนรู้ทำความเข้าใจ ร่วมแสดงทัศนะ ร่วมเสนอปัญหา / ประเด็นที่สำคัญที่เกี่ยวข้อง ร่วมคิดแนวทาง ร่วมการแก้ไข ปัญหา ร่วมในกระบวนการตัดสินใจ และร่วมกระบวนการพัฒนาในฐานะหุ้นส่วนการพัฒนา
     
  7. หลักการกระจายอำนาจ (Decentralization) หมายถึง การถ่ายโอนอำนาจ การตัดสินใจ ทรัพยากร และภารกิจจากส่วนราชการส่วนกลางให้แก่หน่วยการปกครองอื่น (ราชการบริหารส่วนท้องถิ่น) และภาคประชาชนดำเนินการแทนโดยมีอิสระตามสมควร รวมถึงการมอบอำนาจ และความรับผิดชอบในการตัดสินใจ และการดำเนินการให้แก่บุคลากร โดยมุ่งเน้นการสร้างความพึงพอใจในการให้บริการต่อผู้รับบริการและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย การปรับปรุง กระบวนการ และเพิ่มผลิตภาพ เพื่อผลการดำเนินงานที่ดีของส่วนราชการ
     
  8. หลักนิติธรรม (Rule of Law) หมายถึง การใช้อำนาจของกฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับในการบริหารราชการด้วยความเป็นธรรมไม่เลือกปฏิบัติ และคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย
     
  9. หลักความเสมอภาค (Equity) หมายถึง การได้รับการปฏิบัติและได้รับบริการอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการแบ่งแยกด้านชาย /หญิงถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ภาษา เพศ อายุ ความพิการสภาพทางกาย หรือสุขภาพ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจ และสังคม ความเชื่อทางศาสนา การศึกษา การฝึกอบรม และอื่นๆ
     
  10. หลักมุ่งเน้นฉันทามติ (Consensus Oriented) หมายถึง การหาข้อตกลงทั่วไปภายในกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นข้อตกลงที่เกิดจากการใช้กระบวนการเพื่อหาข้อคิดเห็นจากกลุ่มบุคคลที่ได้รับประโยชน์และเสียประโยชน์ โดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรงซึ่งต้องไม่มีข้อคัดค้านที่ยุติไม่ได้ในประเด็นที่สำคัญโดยฉันทามติไม่จำเป็นต้องหมายความว่าเป็นความเห็นพ้องโดยเอกฉันท์