คณะศึกษาศาสตร์

ปริญญาตรี หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา

1. ปรัชญา ความสำคัญ และวัตถุประสงค์ของหลักสูตร

1.1 ปรัชญา

       หลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาดนตรีศึกษา  เป็นหลักสูตรที่ยึดหลักการผลิตครูดนตรีที่ให้มีความพร้อมทั้งด้านความรู้  ทักษะทางวิชาการดนตรี  จิตสำนึกและทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพครู มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์  มีวิจารณญาณ  มีจิตสาธารณะ มีภาวะผู้นำ มีวินัย มีความรัก ความเมตตาและมีความรับผิดชอบในการพัฒนาผู้เรียน มีความศรัทธาในวิชาชีพ เป็นบุคคลที่รักการเรียนรู้ใฝ่รู้ด้วยการแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง  สามารถปรับตัวได้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  มีความรักความผูกพันต่อชุมชนท้องถิ่นและสังคมมีความภาคภูมิใจในการเป็นไทย และยึดมั่นในระบอบปกครองแบบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข

1.2 ความสำคัญ

      เนื่องจากวิชาชีพครูเป็นวิชาชีพชั้นสูงหลักสูตรศึกษาศาสตรบัณฑิต  สาขาวิชาดนตรีศึกษา เป็นหลักสูตรที่เน้นผลิตบัณฑิตให้มีทักษะและความรอบรู้ทางการศึกษาด้านดนตรีศึกษา เพื่อบ่มเพาะให้ผู้เรียนมีทักษะและประสบการณ์ในการเป็นครูสามารถปฏิบัติการสอนดนตรีระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาได้ดี  มีการพัฒนาคุณลักษณะความเป็นครูตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพ เป็นบัณฑิตที่มีคุณภาพ มีคุณธรรม  จริยธรรม  มีความสามารถในการอบรมสั่งสอนนักเรียนให้มีพัฒนาการที่ดี  ทั้งด้านสังคม อารมณ์ และสติปัญญา  เพื่อให้เป็นพลเมืองดีของชาติ  มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ หลักสูตรนี้จึงสนองการผลิตครูดนตรีอย่างสอดคล้องกับนโยบาย  แผนพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจและแผนการศึกษาของชาติ เพื่อให้ได้ครูดนตรีที่เป็นผู้นำทางวิญญาณ  สามารถวางรากฐานที่สำคัญของชีวิตให้แก่เยาวชนของชาติ จนเป็นที่เชื่อมั่นและไว้วางใจของบิดามารดา ผู้ปกครอง เป็นสมาชิกที่ดีของสังคมและประเทศชาติสืบไป

1.3  วัตถุประสงค์ของหลักสูตร

       เพื่อผลิตบัณฑิตสาขาวิชาดนตรีศึกษา ให้มีคุณลักษณะอันพึงประสงค์ ดังต่อไปนี้

1. มีคุณธรรม จริยธรรม มีจรรยาบรรณในวิชาชีพครู มีความรับผิดชอบสูงต่อวิชาการวิชาชีพ สังคม วัฒนธรรมและสิ่งแวดล้อม มีความเข้าใจผู้อื่น เข้าใจโลก เป็นผู้มีจิตสาธารณะ เสียสละและเป็นแบบอย่างที่ดีของครูดนตรี

2. มีความรอบรู้ในด้านวิชาดนตรี วิชาชีพครูและความรู้ทั่วไปอย่างกว้างขวางลึกซึ้งและเป็นระบบอย่างบูรณาการทั้งภาคทฤษฎีและปฏิบัติ ตามลักษณะของศาสตร์และศิลป์ในโลกแห่งความเป็นจริงมีความเข้าใจในวิทยาการใหม่ๆทางด้านวิชาการศึกษาและวิชาดนตรี มีความรู้และทักษะทางด้านการสอน ด้านการศึกษา  ด้านการดนตรีและด้านการวิจัยเพื่อเพิ่มพูนความรู้ทางดนตรีศึกษาสืบไปในอนาคต

3.   มีทักษะด้านปัญญาสามารถคิดค้นหาข้อเท็จจริง เข้าใจและประเมินข้อมูลสารสนเทศและแนวคิดต่างๆไปใช้ในการปฏิบัติงาน การแก้ปัญหา วิจัยเพื่อพัฒนางานและพัฒนาองค์ความรู้ สามารถแก้ปัญหาและหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ โดยยึดหลักทฤษฎี ประสบการณ์เชิงปฏิบัติ และตัดสินใจอย่างชาญฉลาด  มีความเป็นผู้นำทางปัญญา มีวิสัยทัศน์ สามารถใช้นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาทางดนตรีและการสอนดนตรีได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.   มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ใช้วิจารณญาณในการแก้ปัญหา และขจัดข้อโต้แย้งโดยการแสดงออกซึ่งภาวะผู้นำในการแสวงหาทางเลือกที่เหมาะสมและสามารถปฏิบัติได้ มีทักษะในการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล  มีความรับผิดชอบสูง ไวต่อการรับรู้ความรู้สึกของผู้เรียนและเอาใจใส่รับฟังอย่างมีวิจารณญาณ

5.   มีความสามารถในการพิจารณาแสวงหาและเสนอแนวทางในการแก้ปัญหาวิชาการทาง ดนตรีและวิชาชีพครูอย่างมีเหตุผล สามารถบูรณาการศาสตร์ต่างๆมาใช้เพื่อพัฒนาตนและพัฒนางานได้ดี  มีทักษะด้านการคิดวิเคราะห์เชิงตัวเลข การสื่อสารและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ  มีความสามารถในการติดต่อสื่อสารกับผู้อื่นได้เป็นอย่างดี มีดุลยพินิจในการเลือกใช้เทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับการสอนในระดับประถมและมัธยมศึกษาได้อย่างเหมาะสม

6. มีความสามารถเกี่ยวกับทักษะการจัดการเรียนรู้และกลยุทธ์การสอนรวมถึงการวัดและ   การประเมินผลอย่างหลากหลายสอดคล้องกับความสนใจและความแตกต่างของผู้เรียน สามารถติดตามพัฒนาการของศาสตร์ทั้งด้านวิชาการและวิชาชีพครูที่ทันกับยุคสมัยและพัฒนาสมรรถนะของตนอยู่เสมอ

 

อาชีพที่สามารถประกอบได้หลังสำเร็จการศึกษา

1. ข้าราชการ พนักงานครู และอาจารย์ในสถานศึกษาของรัฐบาลและเอกชน

2. นักวิชาการดนตรี

3. บุคลากรทางการศึกษา

4. ผู้ประกอบการในสถานศึกษาและสถานประกอบการที่เกี่ยวข้องกับดนตรี

5. นักดนตรี

6. ศิลปิน

Not Sure which Faculty best for you
request more info

Faculty of คณะศึกษาศาสตร์ Contact: